ประวัติความเป็นมาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับการจัดตั้งเป็นหน่วยงานภายในอย่างเป็นทางการ ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 10/2546 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2546 โดยศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์สมพร โพธินาม เป็นคณบดีคนแรกของคณะแพทยศาสตร์ ในระยะเริ่มดำเนินงานสำนักงานตั้งอยู่ ณ อาคารวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ห้อง 305 ชั้น 3 วิทยาเขตขามเรียง (ม.ใหม่) โดยได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนจากการรับโอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ (ต่อเนื่อง – โมดูล) จากคณะเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ จำนวน 2 รุ่น มีนิสิตจำนวน 84 คน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2547 ซึ่งนิสิตรุ่นแรกได้สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2547 จำนวน 54 คน และได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ เป็นเทียบโอน ซึ่งที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ครั้งที่ 5/2548 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 มีมติเห็นชอบหลักสูตร (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2548)

อาคารคณะแพทยศาสตร์
ปี 2548

เดือนพฤศจิกายน 2548 ได้ย้ายคณะแพทยศาสตร์มาดำเนินงาน ณ ที่ตั้ง 269 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด  อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม (วิทยาเขตพื้นที่ในเมือง ม.เก่า) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม  2547 ได้เปิดศูนย์บริการทางการแพทย์ เขตพื้นที่ขามเรียง และวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 ได้เปิดศูนย์บริการทางการแพทย์ เขตพื้นที่ในเมือง เพื่อเป็นแหล่งฝึกงานของนิสิต รวมทั้งให้บริการด้านการแพทย์  แก่นิสิต  บุคลากร  และประชาชนทั่วไป โดยที่ศูนย์บริการทางการแพทย์ ได้ผ่านการประเมินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เขต 7 ขอนแก่น ให้เป็นหน่วยบริการประจำ (CUP : Contracting Unit For Primary Care) และศูนย์บริการทางการแพทย์ เขตพื้นที่ขามเรียงเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ (PCU) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม  2552

ปี 2549

ในปี พ.ศ. 2549 แพทยสภาได้รับรองหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (6 ปี)  เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 และหลักสูตรผ่านมติเห็นชอบที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ครั้งที่ 5/2549 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2549)  ปีการศึกษา 2549 รับนิสิตหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 1 จำนวน 48 คน หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ (4 ปี) รุ่นที่ 1 จำนวน 75 คน และได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนระดับปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2549) โดยหลักสูตรผ่านมติเห็นชอบที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ครั้งที่ 8/2549  เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2549 และได้เปิดศูนย์บริการทางการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ซึ่งให้บริการตรวจรักษาทางการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ได้แก่ หัตถเวช อายุรเวช เภสัชกร เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2549

ปี 2550

ในปีการศึกษา 2550 ได้เปิดรับนิสิตรุ่นที่ 1 จำนวน 6 คน จากนั้นได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2550) โดยผ่านมติเห็นชอบจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ครั้งที่ 9/2550 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2550  และได้รับการรับรองจากกองประกอบโรคศิลปะโดยคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2551 รวมทั้งในปี พ.ศ. 2552 ได้มีการเปลี่ยนชื่อหลักสูตรจากเดิมหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ เปลี่ยนเป็นหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต และเปิดสถานผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต และผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550

อาคารสถานผลิตยา
ศุนย์บริการแพทย์แผนไทยประยุกต์
ปี 2553

ในปี พ.ศ. 2553 ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2553 มีมติเห็นชอบหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเวชกิจฉุกเฉิน (4 ปี) (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2553) และได้เปิดรับนิสิตรุ่นแรกในปีการศึกษา 2553 จำนวน 40 คน

ปี 2554

ในปี พ.ศ. 2554 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.เรือน  สมณะ, ราชบัณฑิต ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2554 โดยเป็นคณบดีคนปัจจุบันของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ครั้งที่ 5/2555 มีมติเห็นชอบหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (2 ปี) (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2555) และได้ดำเนินการเปิดรับนิสิตในภาคเรียน 2/2555 จำนวนนิสิตที่เปิดรับ 8 คน รวมทั้งมีการจัดทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อชุมชนของโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ โดยสรุปได้ว่า 6 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนศรีสวัสดิ์ 1, ชุมชนศรีสวัสดิ์ 2, ชุมชนศรีสวัสดิ์ 3, ชุมชนปัจฉิมทัศน์ 1, ชุมชนปัจฉิมทัศน์ 2, และชุมชนตักสิลา ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มีความคิดเห็นที่จะสังกัดการรักษาที่โรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สรุปผลการดำเนินงานช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาได้ดังนี้

ปี 2556
  • วันที่ 1 เมษายน 2556 ได้จัดพิธีมอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมและปฏิญานตนบัณฑิตแพทย์ ณ ห้องประชุมเฉลิม  วราวิทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นิสิตแพทย์รุ่นที่ 1 ได้สำเร็จการศึกษา และได้สอบผ่านใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม จำนวน 44 คน
  • วันที่ 15 กรกฎาคม 2556 ผู้บริหาร และบุคลากรมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมด้วยผู้บริหาร และบุคลากร มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้ให้การต้อนรับ นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ในโอกาสที่ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเยี่ยมชมโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • วันที่ 1 ธันวาคม 2556 จังหวัดมหาสารคามร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดงานเดิน-วิ่ง มมส-มหาสารคาม มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 8 ประจำปี 2556 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 86 พรรษา 5 ธันวาคม 2556 ทั้งยังเป็นการจัดหารายได้เพื่อสมทบทุนในการจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ โรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเป็นการส่งเสริมการออกกำลังกาย ของประชาชนทุกกลุ่มอายุ ด้วยการเดิน-วิ่ง ให้มีสุขภาพที่แข็งแรง ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 2,000 คน
ปี 2557
  • วันที่ 1 มีนาคม 2557 ได้ย้ายการให้บริการสุขภาพจากอาคารศูนย์บริการทางการแพทย์ เขตพื้นที่ในเมือง มาดำเนินการ ณ โรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นสถานที่ที่จัดไว้รองรับการขยายจำนวนเตียงผู้ป่วย 230 เตียง
  • วันที่ 16 มิถุนายน 2557 โรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เปิดให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยใน 24 ชั่วโมง ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป และคลินิกเฉพาะทางด้วยแพทย์และบุคลากร ที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมด้วยเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ระยะแรกเปิดให้บริการ จำนวน 30 เตียง
  • วันที่ 30 มิถุนายน 2557 นิสิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเวชกิจฉุกเฉิน ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับมอบเครื่องหมายแสดงวิทยฐานะนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ฝึกหัด รุ่นแรกของประเทศไทย จำนวน 29 คน โดยมีนายแพทย์อนุชา  เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี