ภาษาไทย (ชื่อเต็ม) :  วิทยาศาสตรบัณฑิต  (ฉุกเฉินการแพทย์)

(ชื่อย่อ)  :  วท.บ. (ฉุกเฉินการแพทย์)

ภาษาอังกฤษ  (ชื่อเต็ม) :  Bachelor of Science (Paramedicine)

(ชื่อย่อ) :    B.Sc. (Paramedicine)

นักฉุกเฉินการแพทย์ (Paramedic) ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ตามกรอบคุณวุฒิฉุกเฉินการแพทย์แห่งชาติและมีความสามารถระดับมืออาชีพเฉพาะทางด้านฉุกเฉินการแพทย์ มีคุณธรรมจริยธรรม มีเจตคติที่ดีและยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ สามารถปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์นอกสถานที่ตั้งโรงพยาบาลและปฏิบัติการอำนวยการฉุกเฉินการแพทย์ได้ ด้วยตนเองตามมาตรฐานฉุกเฉินการแพทย์ มีขีดความสามารถในการบำบัดเจาะจงให้แก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งการปฏิบัติงานอื่นเกี่ยวกับการศึกษา การฝึกอบรม การค้นคว้า และการวิจัยเกี่ยวกับการประเมิน การจัดการ การบำบัดรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน และการป้องกันการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นฉุกเฉิน ตลอดจนสามารถบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สอนและวิจัยด้านการแพทย์ฉุกเฉินได้ตามอำนาจหน้าที่ ขอบเขต ความรับผิดชอบ และข้อจำกัดในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน

เพื่อผลิตบัณฑิตนักฉุกเฉินการแพทย์ที่มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ เจตคติ และสมรรถนะที่สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิฉุกเฉินการแพทย์ (มคฉ.1) ตามข้อบังคับคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ว่าด้วย การกำหนดผู้ปฏิบัติการ การรับรององค์กรและหลักสูตรการศึกษาหรือฝึกอบรมผู้ปฏิบัติการ และการให้ประกาศนียบัตรหรือเครื่องหมายวิทยฐานะแก่ผู้ผ่านการศึกษาหรือฝึกอบรม พ.ศ. 2563 ดังต่อไปนี้

  • มีคุณธรรมจริยธรรม มีความรับผิดชอบ เคารพในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์
  • มีความรอบรู้ในศาสตร์ฉุกเฉินการแพทย์และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม
  • สามารถปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ด้วยตนเองอย่างถูกต้องและเหมาะสมเมื่อได้รับมอบหมายอย่างไว้วางใจได้ (Entrustable Professional Activities: EPAs) ดังนี้
    • การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกสถานที่ตั้งโรงพยาบาลที่รับไว้บำบัดเจาะจง (out of hospital patient care)
    • การปฏิบัติทักษะหัตถการฉุกเฉินการแพทย์ (procedural skills)
    • การปฏิบัติการช่วยอำนวยการฉุกเฉินการแพทย์ (medical direction assistances)
    • การบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (EMSS administration)
    • การสอนและวิจัยด้านการแพทย์ฉุกเฉิน (Academic EMS)
  • มีสมรรถนะ (competency) ด้านการสื่อสาร การปฏิบัติทักษะทางคลินิก การทำงานเป็นทีม การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการตัดสินใจ และการมีพฤติกรรมที่ดีทางวิชาชีพ
  • มีความคิดอย่างเป็นระบบและมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
  • มีภาวะผู้นำ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถปรับตัวและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
  • สามารถวิเคราะห์เชิงตัวเลขและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม
  • ใฝ่เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
  • มีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ

ระบบทวิภาค หนึ่งปีการศึกษามี 2 ภาคการศึกษา (ภาคต้น และภาคปลาย) โดยจัดการเรียนการสอนในวันจันทร์-ศุกร์

4 ปีการศึกษา (โดยใช้เวลาการศึกษาได้ไม่เกิน 8 ปีการศึกษา)

  • สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า โปรแกรมวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือเป็นผู้ได้รับอนุมัติประกาศนียบัตรเจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2557 หมวด 3 ข้อ 11 และเป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งจะประกาศให้ทราบเป็นปี ๆ ไป
  • มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือมีความผิดปกติ ที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ได้แก่ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม ติดสารเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง โรคจิตต่าง ๆ โรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม วัณโรคในระยะอันตราย โรคคุดทะราดหรือโรคผิวหนังเป็นที่รังเกียจแก่สังคม กามโรคในระยะที่มีผื่นหรือแผลตามผิวหนัง และโรคอื่นในระยะรุนแรงที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน
  • ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสียหาย ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่อาจจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งผู้ปฏิบัติการ
  • คุณสมบัติอื่น ๆเป็นไปตามประกาศคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
    ซึ่งประกาศให้ทราบเป็นปี ๆ ไป

จำนวน  143 หน่วยกิต

เป็นแบบเหมาจ่าย  ภาคการศึกษาละ  22,000  บาท (ปีการศึกษาละ 44,000 บาท)

ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ สามารถประกอบอาชีพตามกรอบคุณวุฒิฉุกเฉินการแพทย์แห่งชาติ พ.ศ. 2564 ดังนี้

  • เป็นนักฉุกเฉินการแพทย์ (นฉพ.) ปฏิบัติงานในหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ระดับสูง ณ จุดเกิดเหตุ บนรถพยาบาล อากาศยาน หรือพาหนะทางน้ำ และห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน (Pre hospital Care) ของสถานพยาบาลหรือหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหรือกระทรวงที่เกี่ยวข้อง กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐอื่น ภาคเอกชน สถาบัน/ สำนัก/ หน่วยงาน/ องค์กรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • เป็นนักจ่ายงานฉุกเฉินการแพทย์ ปฏิบัติงานในหน่วยปฏิบัติการอำนวยการฉุกเฉินการแพทย์ (ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการประจำจังหวัดหรือเขต)
  • เป็นอาจารย์สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ หรือองค์กรฝึกอบรมผู้ปฏิบัติการ และอาจารย์ประจำหลักสูตรฝึกอบรมผู้ปฏิบัติการในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
  • เป็นนักวิจัยทางด้านการแพทย์ฉุกเฉิน
  • เป็นผู้บริหารการแพทย์ฉุกเฉินของหน่วยปฏิบัติการแพทย์และผู้ช่วยผู้บริหารการแพทย์ฉุกเฉินหน่วยปฏิบัติการอำนวยการตามกรอบคุณวุฒิฉุกเฉินการแพทย์แห่งชาติ
  • เป็นผู้ตรวจประเมินมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินของหน่วยปฏิบัติการแพทย์ และผู้ช่วยตรวจประเมินมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินของหน่วยปฏิบัติการอำนวยการ หรือเป็นผู้ช่วยตรวจประเมินมาตรฐานการฝึกอบรมขององค์กรฝึกอบรมตามกรอบคุณวุฒิฉุกเฉินการแพทย์แห่งชาติ